วันอาทิตย์ที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑

เด็ก/ผ้าขาว/ผ้าสี

ดิฉันดูรายการย้อนรอยของพี่หนุ่ม เมื่อคืนนี้(๑๓ มกราคม ๒๕๕๐) โรงเรียนน่าอยู่มาก การจัดการเรียนการสอนน่าสนใจ ในฐานะที่อยู่ในวงการศึกษา ที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือตัวเด็กที่มีพื้นฐานล้วนแต่ขาดความอบอุ่นจากครอบครัวแทบทั้งสิ้น

โรงเรียนดิฉันมีเด็กประเภทนี้มากมาย เวลาเด็กมีปัญหาหรือถูกทำร้ายกลับมีญาติโกโหติกาอีกมากมาย เช่นกัน เพื่อที่ว่าจะได้เงินจากกรณีต่าง ๆ แต่เมื่อพ่อแม่เด็กกลับไปหาทำงานต่างจังหวัดเด็กกลับอยู่อย่างขาดแคลน การลักเล็กขโมยน้อยจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่เด็กจะเอาตัวรอด สังคมรอบข้างจะเสี้ยมสอนให้เด็กสามารถยืนหยัดอยู่ได้ เคยสังเกตเด็กเหล่านี้เมื่ออยู่ในห้องเรียนรวมกับเพื่อน เขาจะถูกแยกตัวอัตโนมัติ ทั้งด้วยตนเองต้องการและเพื่อนที่ไม่ต้องการคบหาสมาคมด้วย

คุณอ่านกรณีนี้ดูนะ

เด็กผู้หญิงประมาณชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ แอบขโมยมะม่วงกับน้องอีก ๒ คน ครูมาเห็นก็ไล่เด็กลงจากต้นมะม่วงด้วยความกลัวว่าเด็กจะตกลงมา แต่ครูไม่รู้ว่าพี่สาวแอบนิ่งอยู่บนต้นมะม่วง เมื่อครูกลับไป ภารโรงมาพบเห็นเข้าจึงไล่ลง และขู่ว่าจะฟ้องครูประจำชั้นเด็กหญิงไม่สนใจและยังท้าทายอีกว่าครูคนไหนก็ไม่กลัวทั้งนั้น ด้วยความโมโหที่ถูกเด็กพูดจาลองดี ท้าทาย ภารโรงจึงตีเด็กเข้าให้ เด็กร้องไห้ไปฟ้องบรรดาญาติๆ ซึ่งรุ่งเช้าก็ยกขบวนกันมาหาผู้บริหาร ในที่สุดภารโรงต้องจ่ายค่าตีเด็กไป ๔ ที ๔,๐๐๐ บาท ตามด้วยคำพูดอาฆาตมาดร้าย

ภารโรงผิดแน่ๆ ที่ตีเด็ก ตีไม่ถูกที่เสียด้วย เพราะโดนที่แขน......

หลังจากนั้นหนึ่งวันคณะครูช่วยกันรวบรวมเงินคืนให้ภารโรงจนเกือบครบ เพราะสงสารภารโรง

คณะครูส่วนใหญ่มีความรู้สึกอ้างว้าง......โดดเดี่ยว ไม่วันใดก็วันหนึ่งหากถูกลองดีเช่นนี้จะอดใจไม่ไหว

เพราะ

ฝ่ายบริหารกลัวมีปัญหากับชาวบ้าน เกิดชาวบ้านยกโขยงกันไปที่เขตการศึกษาฯ จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ทันที

ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์เกี่ยวข้องทำให้เด็กบาดเจ็บ......ครูต้องจ่าย

เช่นเวลาเที่ยงเด็กหนีไปเก็บมะม่วงที่บ้าน ตกลงมาขาหัก ครูจ่าย...ทั้งๆ ที่ครูหาอาหารกลางวันให้กินแล้วและกำชับไม่ให้หนีกลับบ้าน

เด็กงัดห้องเรียนปีนหน้าต่างเหยียบบนหลังคาห้องเรียนในวันหยุด กระเบื้องแตกตกลงมาแขนหัก ครูจ่าย...เพราะเป็นห้องของครูคนนั้น

ดิฉันไม่ได้เสียดายเงิน แต่มีความรู้สึกว่าความผูกพันระหว่างครูกับศิษย์มันไม่มี มองหน้ากันไม่สนิท สอนนักเรียนคนอื่นได้แต่มองหน้าคู่กรณีที่ทำให้เสียเงิน มันเสียความรู้สึกดีๆ ทั้งๆ ที่สงสารเด็กแต่มันเหมือนมีม่านบางๆ มากั้นไว้ คุณอาจคิดว่าเป็นครูจะไม่ให้อภัยศิษย์บ้างหรือ?

ยิ่งครูกับผู้ปกครอง ไม่ต้องพูดถึง

มามองดูเด็กบ้าง..!!!!......

ดิฉันไม่ได้ใช้ไม้เรียวมานาน เอาน้ำเย็นเข้าลูบ ได้แต่ขู่ว่าจะตี ไม่เคยตีสักที มีเหมือนกันที่ต้องเดินหนีไประงับอารมณ์ กลัวอดใจไม่ได้

เมื่อกลับมาดูสาเหตุ

ปัญหาที่เกิดมาจากครอบครัวแทบทั้งสิ้น พ่อแม่หย่าร้างกัน ต่างฝ่ายต่างไปมีครอบครัวใหม่ ทิ้งเด็กให้อยู่กับย่ายาย ส่งเงินมาให้บ้าง ไม่ส่งบ้าง เด็กย่อมที่จะต้องหาวิธีที่จะเอาตัวรอดให้ได้

คุณดูข่าวที่แบ้งค์ถูกยิงตายไหม.....ขนาดแบ้งค์ยิงตำรวจตายไป ๓ นาย แม่ของแบ้งค์ยังกล่าวหาว่าตำรวจทำร้ายลูกตน แต่ไม่คิดสักนิดว่า ทำไมแบ้งค์จึงเป็นเช่นนี้?






วันเสาร์ที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑

อายไหม?..... ที่คนไทยอ่านหนังสือน้อย

ตัวเลขสำรวจรอบใหม่ที่มาบอกกล่าวกันในงาน "มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ ๑๒" โดยสมาคมผู้พิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือบอกว่า คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๒ เล่ม
"คนไทยชอบดู ชอบฟัง ชอบพูด แต่ยังไม่ชอบการอ่านเท่าที่ควร"นายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์กล่าว "การรู้หนังสือจึงเป็นการช่วยสร้างคนและสร้างชาติ" ยังเป็นคำกล่าวที่ถูกต้องและทันสมัย
ขณะที่คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๒ เล่มนั้น คนเวียตนามอ่านปีละ ๖๐ เล่ม คนสิงคโปร์อ่านปีละ ๔๕ เล่ม แปลว่าอะไร? สถิติอย่างนี้ย่อมหมายความว่าเด็กไทยจะโตขึ้นด้วยจินตนาการและความคิดที่คับแคบกว่าเยาวชนของเวียตนามและสิงคโปร์ และนั่นก็ย่อมหมายความว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ความสามารถในการแข่งขันกับคนอื่นในทุกๆ ด้านก็จะลดน้อยลงและสถานภาพของประเทศที่เคยอยู่แถวหน้าของเอเชียอาคเนย์ก็จะอ่อนแอลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การสร้างนิสัยการอ่านคือการสร้างชาติ เพราะการอ่านทำให้เกิดความคิด จินตนาการ และความกล้าหาญทางจริยธรรม ที่สำคัญกว่านั้นคือ การอ่านทำให้คนมีสมาธิมากกว่าการดูทีวี ฟังวิทยุ หรือเล่นอินเทอร์เน็ต เพราะขณะที่อ่านหนังสือ เราต้องคิดและจินตนาการไปด้วย ทำให้เกิดความคิดเห็นด้วย ขัดแย้งหรือต่อยอดไปจากที่ได้อ่าน
การส่งเสริมให้เกิดนิสัยการอ่านนั้นต้องมาจากรัฐและเอกชนที่ต้องประสานกันอย่างใกล้ชิด ตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครอง และครูบาอาจารย์ที่โรงเรียนจะต้องสร้างบรรยากาศของการอ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และการถกกันในเนื้อหาที่อ่านมา เริ่มต้นง่ายๆ ก็คือการที่รัฐบาลต้องทำให้ค่าใช้จ่ายในการพิมพ์หนังสือนั้นถูกลงกว่านี้อย่างเห็นได้ชัด หาไม่แล้ว ความพยายามที่จะส่งเสริมให้เยาวชนไทยอ่านหนังสือก็ไม่อาจจะประสบความสำเร็จได้ ราคาหนังสือที่เวียตนาม สิงคโปร์ จีนและอินเดียนั้นถูกกว่าของไทยเราไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐-๓๐
นั่นคือข้อแตกต่างที่สำคัญต่อการสร้างวัฒนธรรมการอ่านของคนไทย เพราะถ้าหากหนังสือยังแพงและเป็นสิ่งหายก การผลักดันให้คนไทยอ่านหนังสือก็ย่อมเป็นไปไม่ได้
คนไทย "ทำบุญ" ด้วยวิธีการต่าง ๆ และใช้เงินโดยไม่คิดมาก เพื่อหวังจะได้ "ขึ้นสวรรค์" กันมากๆ แต่กลับไม่สนใจที่จะบริจาคหรือช่วยกันพิมพ์หนังสือ สร้างห้องสมุด หรือจัดกิจกรรมให้เด็กไทยได้อ่านหนังสือมากขึ้น

บทความนี้ตัดจากหนังสือนิตยสารชีวจิต ฉบับปักษ์หลังเดือนธันวาคม ๒๕๕๐

ดิฉันเป็นครู สอนภาษาไทย ดูแลห้องสมุดเสียด้วยซิ ถามว่าอายไหมที่สอนเด็กแล้วอ่านหนังสือไม่ออก

อายค่ะ......โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กในความรับผิดชอบ ไม่โยนกลองโทษว่าเป็นเพราะพื้นฐานเด็ก ครอบครัว สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเด็ก ฯลฯ เท่าที่ได้แก้ปัญหา เด็กจะอ่านได้หากเขาได้รับความสนใจ ยกเว้นเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้หรือเด็กพิการทางสมอง

เด็กที่อ่านหนังสือไม่ออกเขาบกพร่องอย่างไร......?........
ขาดความอบอุ่นทางครอบครัว อยู่กับย่า/ยาย/ญาติที่ไม่เข้าใจในเรื่องของการอ่านเขียนเรียนรู้ ร้านเกม แหล่งมั่วสุมมีมากมายแม้กระทั่งที่บ้านของเด็กเอง การที่ถูกครูดุหรือลงโทษยิ่งทำให้ไม่อยากมาเรียนมากขึ้น การอ่านยิ่งไม่ต้องพูดถึง

ดิฉันเคยให้กำลังใจเด็กคนหนึ่งเมื่อเรียกเขามาอ่านหนังสือให้ฟัง และบอกว่า "อีกหน่อยวันดีจะอ่านได้เร็วกว่านี้จริงๆ นะ" เนื่องจากเด็กอ่านหนังสือไม่ออก อ่านช้ามาก แต่ดิฉันไม่รู้เลยว่านั่นคือพลังใจที่สำคัญ เมื่อดิฉันส่งเด็กถึงฝั่ง เรือจ้างลำถัดไปมาเล่าให้ฟังว่า "วันดีอ่านหนังสือได้ดีมาก" เขาเล่าอีกว่าดิฉันเป็นคนเติมเชื้อไฟในการอ่านให้เขา ทำให้เขาคิดว่า ต้องอ่านได้เหมือนคนอื่นๆ นี่คือตัวอย่างหนึ่งจากเด็กหลายๆ คนที่อ่านหนังสือได้ด้วยกำลังใจ


เพื่อนๆของดิฉันบอกว่าหลังเกษียณมีการวางแผนกิจการมากมาย ทำร้านกาแฟ ร้านอาหาร ดูแลสวนยางพารา สวนผลไม้ ฯลฯ

ดิฉันสะสมหนังสือไว้พอประมาณ ส่วนใหญ่หนังสือแปล ตำรวจน่าจะมารับบริการใช้ห้องสมุดได้มาก เพราะเป็นหนังสือแนวสืบสวน นอกนั้นเป็นหนังสือการศึกษา และเด็ก เคยฝันเล่นๆ อยากจะทำห้องสมุดหน้าบ้าน มีเครื่องถ่ายเอกสารสำหรับนักเรียนที่ต้องการ มีอินเทอร์เน็ตสำหรับการค้นคว้า(ไม่อนุญาตให้เล่นเกม) มีกาแฟให้ดื่ม (อ่านหนังสือจบ ๓๐ หน้ารับเอสเพรสโซ ๑ ถ้วย) ทุกอย่างฟรีแต่จะมีคนมาใช้บริการรึเปล่า หากคนไทยยังอ่านหนังสือปีละ ๒ เล่ม ???.....